ภาษาไทย

วิเคราะห์เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์

๑. โครงเรื่อง
แคว้นนั้นยึดมั่นในอปริหานิยธรรม  มีความสามัคคีปรองดองมั่นคง  กษัตริย์ผู้ต้องการแผ่อำนาจจึงต้องใช้อุบายส่งพราหมณ์ปุโรหิตของตนเข้าไปเป็นไส้ศึก  หาวิธีทำลายความสามัคคีของกษัตริย์แคว้นนั้นเสียก่อน  แล้วจึงยกทัพเข้าโจมตี  พราหมณ์ปุโรหิตใช้เวลาถึง ๓ ปีจึงดำเนินกลอุบายทำลายความสามัคคีได้สำเร็จ  กษัตริย์แคว้นนั้นก็แผ่อำนาจเข้าครอบครองแคว้นข้างเคียงเป็นผลสำเร็จ
๒. สาระของเรื่อง 
สามัคคีเภทคำฉันท์ชี้ให้เห็นว่า
๒.๑  ความสามัคคีเป็นธรรมที่จำเป็นในการทำงาน
๒.๒ การร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตต่าง ๆ นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในอันจะป้องกันชาติบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น
๒.๓ วิจารณญาณเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับมนุษย์  โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในโลกของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและเข่นฆ่ากันอย่างไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
๒.๔ สงครามนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนของคนในประเทศ  มนุษย์ไม่ควรเบียดเบียนกัน
๒.๕ การละทิฐิมานะ ละอคติจะทำให้บุคคลดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขและตริตรองเรื่องต่าง ๆได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น
๓. แก่นเรื่องของสามัคคีเภทคำฉันท์
๓.๑ แก่นเรื่องหลัก
คือโทษของการแตกความสามัคคีซึ่งนำหมู่คณะไปสู่ความหายนะ
๓.๒ แก่นเรื่องรอง  คือ
๓.๒.๑  การใช้สติปัญญาเอาชนะฝ่ายศัตรูโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ การรู้จักเลือกใช้บุคคลให้เหมาะกับงานจะทำให้งานสำเร็จด้วยดี
๓.๒.๒ การถือความคิดของตนเป็นใหญ่และทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่นย่อมทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม
 ๔. ฉาก
เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์เป็นเรื่องที่เรารับมาจากอินเดีย  กวีจึงพยายามพรรณนาฉากให้บรรยากาศของเรื่องเป็นประเทศอินเดียในสมัยพระเจ้าอชาตศัตรู  แต่กวีเป็นคนไทยดังนั้นฉากจึงมีความเป็นไทยแทรกอยู่บ้าง เช่น การพรรณนาชมบ้านเมือง
        อำพนพระมนทิรพระราช                    สุนิวาสวโรฬาร์
อัพภันตรไพจิตรและพา                             หิรภาคก็พึงชม
เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา                                นมหาพิมานรมย์
มารังสฤษฎ์พิศนิยม                                    ผิจะเทียบก็เทียมทัน
สามยอดตลอดระยะระยับ                           วะวะวับสลับพรรณ
ช่อฟ้าตระการกลจะหยัน                            จะเยาะยั่วทิฆัมพร
บราลีพิลาศศุภจรูญ                                    นภศูลประภัสสร
หางหงส์ผจงพิจิตรงอน                              ดุจกวักนภาลัย
          นับว่าเป็นบทพรรณนาชมบ้านเมืองที่ไพเราะทั้งเสียง จังหวะและลีลา  นัยว่านายชิต  บุรทัตพรรณนาตอนนี้จากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  แต่ไม่ใช่ข้อบกพร่องเสียหายเพราะธรรมดากวีย่อมบรรยายจากสิ่งที่ได้เคยพบเห็น  เรียกกันว่าเป็นอนุโลมกวี 
          การพรรณนากระบวนทัพช้างและทัพม้าตอนพระเจ้าอชาตศัตรูกรีธาทัพนั้น  นับว่าพรรณนาได้อย่างน่าเกรงขาม  เช่น
               ขุนคชขึ้นคชชินชาญ                    คุมพลคชสาร
ละตัวกำแหงแข็งขัน
               เคยเศิกเข้าศึกฮึกครัน                  เสียงเพรียกเรียกมัน
คำรณประดุจเดือดดาล
          การพรรณนาชมธรรมชาติซึ่งนับว่านิยมมากในวรรณคดีไทย  แต่ในสามัคคีเภทคำฉันท์ขาดรสนี้ไป  ตอนวัสสการพราหมณ์ถูกขับก็ดี  หรือตอนพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพก็ดี  น่าจะมีบทพรรณนาชมธรรมชาติบ้าง  แต่ผู้แต่งเพียงพรรณนาสรุปสั้น ๆ ว่า
         แรมทางกลางเถื่อน                       ห่างเพื่อนหาผู้
หนึ่งใดนึกดู                                            เห็นใครไป่มี
หลายวันถั่นล่วง                                      เมืองหลวงธานี
นามเวสาลี                                              ดุ่มเดาเข้าไป
๕. การเลือกสรรความ
         เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องไปตามลำดับไม่สับสนทำให้ผู้อ่านเข้าใจตลอดทั้งเรื่อง  นายชิต  บุรทัตเลือกสรรความได้อย่างกระชับไม่เยิ่นเย้อทำให้ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว เช่น ตอนที่วัสสการพราหมณ์ถูกลงพระราชอาญาแล้วเนรเทศจากแคว้นมคธมีการบทคร่ำครวญพอสมควรเท่านั้น
นอกจากนี้วรรณคดีประเภทฉันท์นั้นกวีจะต้องเลือกใช้ฉันท์ให้เหมาะสมกับความ  เพราะฉันท์แต่ละชนิดมีลีลาและให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันไป  ซึ่งนายชิต  บุรทัตก็เลือกใช้ฉันท์ได้อย่างเหมาะสม  เช่น
สัททุลวิกกีฬิตฉันท์  ลีลาท่วงทำนองเคร่งขรึม  ใช้ในบทประณามพจน์
วสันตดิลกฉันท์  ลีลาจังหวะสละสลวย   ใช้พรรณนาชมบ้านเมือง
อิทิสังฉันท์  ลีลากระแทกกระทั้น  ใช้ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูกริ้ว
จิตรปทาฉันท์  ลีลาคึกคัก เร่งเร้า กระชั้น ใช้แสดงความตกใจเมื่อศึกมาประชิด
อินทรวิเชียรฉันท์ ลีลาสละสลวย   ใช้ตอนวัสสการพราหมณ์ถูกเนรเทศ
มาณวกฉันท์  ลีลาเร่งเร้าผาดโผน ใช้ตอนวัสสการพราหมณ์ยุพระกุมาร
โตฎกฉันท์   ลีลากระชั้น  คึกคัก   ใช้ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพ

คุณค่างานประพันธ์ 
             ๑.ด้านวรรณศิลป์
                   - ใช้ฉันทลักษณ์ได้อย่างงดงามเหมาะสม โดยเลือกฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันตามความ      เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง จึงเกิดความไพเราะสละสลวย
                   - ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เห็นภาพชัดเจน
              ๒. ด้านสังคม
                   - เน้นโทษของการแตกความสามัคคีในหมู่คณะ
                   - ด้านจริยธรรม เน้นถึงหลักธรรม อปริหานิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม
                   - เน้นถึงความสำคัญของการใช้สติปัญญาตริตรอง และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้กำลัง

ข้อคิดที่ควรพิจารณาจากเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์
๑. การขาดการพิจารณาไตร่ตรอง นำไปซึ่งความสูญเสีย ดังเช่น เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ขาดการพิจารณาไตร่ตรอง” คือ ขาดความสามารถในการใช้ปัญญา
ตริตรองพิจารณาสอบสวน และใช้เหตุผลที่ถูกต้อง จึงหลงกลของวัสสการพราหมณ์ ถูกยุแหย่ให้แตกความสามัคคีจนเสียบ้านเสียเมือง
ในรัชกาลที่ ๖ ด้วยเหตุที่คนไทยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการบ้านเมืองแตกต่างกันหลายฝ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กวีจึงนิยมแต่งวรรณคดีปลุกใจขึ้นเป็นจำนวนมาก สามัคคีเภทคำฉันท์เป็นเรื่องหนึ่งในจำนวนนั้น
นายชิต บุรทัต แต่งเรื่องนี้ขึ้น โดยมุ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของความสามัคคี เพื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่ในปัจจุบันกระแสชาตินิยมลดลง แต่ความสามัคคีก็เป็นหลักธรรมสำคัญในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ วรรณคดีเรื่องนี้จึงเป็นเนื้อหาที่มีคติสอนใจทันสมัยอยู่เสมอ
๒. แนวคิดของเรื่องสามัคคีเภท สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นนิทานสุภาษิตสอนใจให้เห็นโทษของการแตกความสามัคคี และแสดงให้เห็นความสำคัญของการใช้สติปัญญาให้เกิดผลโดยไม่ต้องใช้กำลัง
๓. ข้อคิดเห็นระหว่างวัสสการพราหมณ์กับกษัตริย์ลิจฉวี บางคนอาจมีทรรศนะว่า วัสสการพราหมณ์ขาดคุณธรรม ใช้อุบายล่อลวงผู้อื่นเพื่อประโยชน์ฝ่ายตน แต่มองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า วัสสการพราหมณ์น่ายกย่องตรงที่มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอชาตศัตรูและต่อบ้านเมือง ยอมถูกลงโทษเฆี่ยนตี ยอมลำบาก จากบ้านเมืองตนไปเสี่ยงภัยในหมู่ศัตรู ด้องใช้ความอดทน สติปัญญาความสามารถอย่างสูงจึงจะสัมฤทธิผลตามแผนการที่วางไว้
ส่วนกษัตริย์ลิจฉวีเคยใช้หลักอปริหานิยธรรมร่วมกันปกครองแคว้นวัชชีให้มั่นคงเจริญมาช้านาน แต่เมื่อถูกวัสสการพรามหณ์ใช้อุบายยุแหย่ให้แตกความสามัคคี
ก็พ่ายแพ้ศัตรูได้โดยง่ายดาย
๔. เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ให้อะไรกับผู้อ่าน ข้อคิดสำคัญที่ได้จากเรื่อง คือ โทษของการแตกความสามัคคี ส่วนแนวคิดอื่น ๆ มีดังนี้
๔.๑ การใช้ปัญญาเอาชนะศัตรูโดยไม่เสียเลือดเนื้อ
๔.๒ การเลือกใช้บุคคลให้เหมาะสมกับงานจะทำให้งานสำเร็จได้ด้วยดี
๔.๓ การใช้วิจารณญาณไตร่ตรองก่อนทำการใด ๆ เป็นสิ่งที่ดี
๔.๔ การถือความคิดของตนเป็นใหญ่และทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่น ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม
๕. ศิลปะการประพันธ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์ นายชิต บุรทัต สามารถสร้างตัวละคร เช่น วัสสการพราหมณ์ ให้มีบุคลิกเด่นชัด และสามารถดำเนินเรื่องให้ชวนติดตาม นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญในการแต่งคำประพันธ์ ดังนี้
๕.๑ เลือกสรรฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันอย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่องแต่ละตอน เช่น ใช้วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ซึ่งมีลีลาไพเราะ ชมความงามของเมืองราชคฤห์ ใช้อีทิสังฉันท์ ๒๐ ซึ่งมีลีลากระแทกกระทั้นแสดงอารมณ์โกรธ
๕.๒ ดัดแปลงฉันท์บางชนิดให้ไพเราะยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มสัมผัสบังคับคำสุดท้ายของวรรคแรกกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒ ในฉันท์ ๑๑ ฉันท์ ๑๒ และฉันท์ ๑๔ เป็นที่นิยมแต่งตามมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นายชิต บุรทัต ยังเพิ่มลักษณะบังคับ ครุ ลหุ สลับกันลงในกาพย์สุรางคนาง ๒๘ ให้มีจังหวะคล้ายฉันท์ด้วย
๕.๓ เล่นสัมผัสในทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรอย่างไพเราะ เช่น คะเนกล – คะนึงการ ระวังเหือด ระแวงหาย
๕.๔ ใช้คำง่าย ๆ ในการเล่าเรื่อง ทำให้ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว และผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ทันที
๕.๕ ใช้คำง่าย ๆ ในการบรรยายและพรรณนาดัวละครได้อย่างกระชับ และสร้างภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน
อปริหานิยธรรม ๗ ประการ
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติเอาไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรมตามที่วางไว้เดิม
๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี ก็ควรเคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง
๕. บรรดากุลสตรีและกุลกุมารีทั้งหลายให้อยู่ดี โดยมิถูกข่มเหงหรือฉุดคร่าขืนใจ
๖. เคารพสักการบูชาเจดีย์ของวัชชีทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป
๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง และป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น